กำเนิดเหรียญรุ่นแรก

กำเนิดเหรียญรุ่นแรก
เหรียญหน้าวัว ปี 2513 คุณสุนทร จันทรวงษ์ สร้าง


คุณสุนทรได้อธิบายถึงมูลเหตุแห่งการสร้างเหรียญไว้ว่า
“ผมเคยได้ยินชื่อเสียงขจรขจายของพระภิกษุผู้หันหลังให้โลกหลายท่านด้วยกัน อาทิเช่น ท่านอาจารย์มั่น หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่แหวน หลวงปู่ชอบ หลวงปู่สิม เป็นต้น หลวงปู่มั่นท่านเข้านิพพานแล้ว ผมจึงสนใจทำบุญกับหลวงปู่ที่เป็นลูกศิษย์ของท่าน มีหลวงปู่ตื้อ หลวงปู่สิม โดยช่วยท่านสร้างศาลา สร้างพระอุโบสถ เป็นต้น ต่อมาผมได้บุกเข้าไปนมัสการหลวงปู่แหวนด้วยความยากลำบาก เพราะสมัยนั้นยังไม่ได้ตัดทางเข้าไป เมื่อผมพบท่านแล้วมีอะไรๆ หลายอย่างที่ประทับใจผมยิ่งนัก เช่นผมมีปัญหาชีวิตไปถามท่าน ท่านตอบว่า
ไม่ มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาได้เองโดยไม่มีเหตุ ฉะนั้นสุขหรือทุกข์ที่เราได้รับอยู่ก็เพราะเราสร้างเหตุไว้ เราต้องรับผลอันนั้น ถ้าไม่อยากรับผลที่เป็นทุกข์ก็หยุดสร้างเหตุอันจะให้เกิดทุกข์เสีย แล้วเรื่องต่างๆ ก็จะคลี่คลายเป็นความสงบไปเอง
คำตอบของท่านทำให้ผมสว่างและได้สติปัญญา เรื่องอื่นๆ จึงไม่ต้องถามอีก ผมไปกราบท่านหลายครั้ง ผมจึงทราบว่าท่านรู้หมดว่ากรรมเป็นเรื่องของแต่ละคน ท่านว่าผมสวดมนต์ไหว้พระสั้นยาวแค่ไหน ทำเสียงเหมือนพระแขกในบางครั้งและอื่นๆ อีกมาก ท่านเป็นพระสันโดษอย่างยิ่ง และมีอภินิหารที่ไม่ต้องพูด แต่ทำให้รู้เองเห็นเอง ด้วยเหตุนี้แหละครับผมจึงได้นำความในใจมาปรารภกับพระครูสังฆรักษ์กาวงษ์ เจ้าอาวาสวัดดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม เชียงใหม่ ว่าจะขอสร้างเหรียญหลวงปู่แหวน หลวงปู่ตื้อ หลวงปู่สิม สร้าง 3 องค์ สร้างขึ้นเป็นพุทธบูชาว่าลูกศิษย์ตถาคตเจ้าทั้ง 3 รูปนี้ควรค่าแก่การกราบไหว้บูชาโดยแท้ พระครูท่านเป็นผู้ติดต่อ ผมเป็นผู้ออกเงินสร้าง แล้วนำเหรียญเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดสันติธรรมในคราวฉลองพระอุโบสถประมาณ พ.ศ. 2513 เหรียญทั้งสามองค์มีรูปร่างเหมือนกัน ผิดแต่องค์พระเท่านั้น สำหรับเหรียญหลวงปู่ตื้อได้มอบให้ท่านปลุกเสกเองถวายไปหมด ของหลวงปู่สิมเข้าพิธีแล้วให้ท่านแจกแก่ผู้ไปช่วยงานฉลองพระอุโบสถทุกคน ส่วนเหรียญของหลวงปู่แหวนนั้นผมนำกลับมาบ้านตั้งไว้บนหิ้งพระ เพราะตั้งใจว่าจะกราบไหว้เหรียญแทนองค์ท่านให้ครบปีครึ่ง”

คุณสุนทรได้บอกว่าจำนวนสร้างของเหรียญรุ่นแรกนี้มี เนื้อทองแดง 1,000 องค์ เนื้อเงิน 10 องค์เท่านั้น เมื่อถวายเหรียญแก่หลวงปู่แหวนแล้วได้ขอกลับคืนมาถวายวัดเจดีย์หลวง 200 เหรียญ วัดป่าดาราภิรมย์ 100 เหรียญ วัดสันติธรรม 100 เหรียญ วัดที่อำเภอสันกำแพง 100 เหรียญ วัดป่าสามัคคีธรรม สันป่าตอง 100 เหรียญ คุณสุนทรเก็บไว้เอง 50 เหรียญ และแจกให้คนเฒ่าคนแก่ในงานศพพ่อ แจกให้นักเรียนโรงเรียนเมตตาศึกษา วัดเจดีย์หลวง
นอกเหนือจากที่กล่าวถึงนี้ได้ถวายหลวงปู่แหวนทั้งหมด
คุณสุนทรได้เล่าถึงอภินิหารของเหรียญรุ่นนี้ว่า
" อภินิหารของเหรียญไม่ต้องพูดก็ได้ บอกเพียงแต่ว่าใครได้ไว้บูชาแล้วหวงแหนยิ่งนัก แม้ผมเองเป็นผู้แจกแก่เด็กนักเรียนแล้ว ผมไปขอบูชาคืนด้วยเงินเขาไม่ให้ ถามว่าทำไมไม่ให้ เขาตอบว่า เพื่อนเขาคนหนึ่งไปอาบน้ำที่น้ำแม่ปิง พอดีมีพวกวัยรุ่นยกพวกตีกัน จึงยืนดูเพลินอยู่เลยโดนลูกหลงถูกจามกบาลด้วยขวานครับ ล้มลงไปเลยนึกว่าตาย พอไปเขย่าตัว กลับพูดว่าอะไรกันวะ กูไม่รู้เรื่องสักหน่อย หัวยังไม่โนเลย”

รูปหล่อหลวงปู่แหวน รุ่นแรก2516

รูปหล่อหลวงปู่แหวน รุ่นแรก2516      รูปหล่อหลวงปู่แหวน รุ่นหน้าแหงน 2516 ก้นอุดกริ่ง

รูปหล่อหลวงปู่แหวน พูดถึง เหรียญรุ่น 1



รูปหล่อหลวงปู่แหวน พูดถึง เหรียญรุ่น 1



อาจมีผู้สงสัยว่าเหรียญรุ่นแรกกับเหรียญรุ่น 1 นี้มันยังไงกัน
เอาเป็นว่าเหรียญรุ่นแรกนั้นถูกสร้างขึ้นมาก่อน พอมาถึงเหรียญรุ่น 1 ซึ่งความจริงสร้างเป็นครั้งที่ 2 แต่ผู้คนอยากจะให้เป็นเหรียญรุ่น 1 ก็ว่ารุ่น 1 ตามกันไปแล้วกัน
เหรียญรุ่น 1 สร้างขึ้นปีเดียวกันกับเหรียญรุ่นแรก คือปี 2513 ลักษณะเหรียญมีรูปร่างกลม ด้านหน้าทำเป็นรูปหลวงปู่แหวนหันหน้าตรง ครึ่งองค์ เป็นเหรียญรมดำ สร้างจำนวน 3,000 เหรียญ
เฉพาะด้านหน้าเหรียญรุ่นนี้ใช้บล๊อกเดียวกัน เว้นแต่ด้านหลังจะมี 2 บล๊อก บล๊อกแรกให้สังเกตตัว “ทร” (อร) ตัวอักขระจะลบเลือน ส่วนอีกบล๊อกจะชัดเจนกว่าเท่าที่ทราบเหรียญรุ่น 1 นี้ ค่านิยมไม่สู้เหรียญรุ่นแรกหรอก
นี่ว่ากันแบบพาณิชย์
แต่ถ้าความขลังแล้วใครคิดว่าเหรียญรุ่นไหนเหนือกว่ารุ่นไหน

เหรียญรุ่น 2 สร้างปี 2514
เหรียญ รุ่น 2 นี้ มีด้านหน้าเป็นอย่างเดียวกับรุ่น 1 เพราะว่าใช้บล๊อกเดียวกัน เปลี่ยนแต่ด้านหลังคือ ทำให้ตัวอักขระวางอยู่ในแนวตั้ง ซึ่งเหรียญรุ่น 1 วางอยู่ในแนวนอน และบล๊อกก็ยังคงเป็นบล๊อกเดียวกัน
รุ่น 2 นี้ได้จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงรมดำ 3,000 เหรียญ เนื้อเงิน 114 เหรียญ เนื้อเงินนั้นตอกตัวเลข 9 ไทยไว้ด้านหลัง

เหรียญรุ่น 3 สร้างปี 2515
ลักษณะเป็นรูปใบโพธิ์ ความจริงคล้ายๆใบโพธิ์ ทำเป็นรูปหลวงปู่แหวนนั่งเต็มองค์ เหนือหัวหลวงปู่แหวน
ทำเป็นรูปพระพุทธเจ้านั่งสมาธิมีรัศมีเป็นแฉก ใต้องค์หลวงปู่เขียนชื่อท่านไว้และใต้ชื่อเขียนว่า "รุ่นสุดท้าย”
ทำไมจึงเขียนว่ารุ่นสุดท้ายก็เหลือเดา
เพราะว่าหลังจากรุ่นสุดท้ายที่ความจริงคือรุ่น 3 ก็ได้มีเหรียญรุ่นต่อๆ มาอีกมากมายหลายรุ่นจนนับไม่ถ้วน
บางทีผู้สร้างอาจคิดว่าไม่น่าจะมีใครสร้างอีกแล้วก็ได้ จึงปักใจว่านี่คือรุ่นสุดท้ายแน่

เหรียญรุ่น 4
ทำเป็นรูปหลวงปู่แหวนยืนเต็มองค์ ไม่มีหูหรือห่วง ต้องเอาไปเลี่ยมกรอบแขวนคอกันเอาเอง เหรียญรุ่นนี้ผู้สร้างคือ วัดสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ โดยสร้างขึ้นในปี 2517 ประมาณเดือนมีนาคม
จำนวนสร้าง ทองคำ 17 เหรียญ เงิน 85 เหรียญ นวโลหะ 108 เหรียญ ทองแดง 5,000 เหรียญ
เห็นจะกล่าวถึงเหรียญรุ่นต่าง ๆ ของหลวงปู่แหวนไว้แค่นี้ เพราะว่าต่อจากนี้ไปไม่มีอะไรแน่ว่าเหรียญรุ่นไหนเป็นรุ่นไหน เพราะว่าออกมามากมายไล่หลังกันติดๆ จนเกินจะสรุปได้
ถ้าจะต้องกล่าวถึงเหรียญรุ่นต่างๆ ต่อไป คงกล่าวแต่เพียงว่าเป็นเหรียญที่สร้างขึ้นเดือนไหน ปีไหน และจะลงเท่าที่จะหาภาพได้ ที่ไม่มีภาพก็แล้วไป ไม่ได้แปลว่าไม่ใช่เหรียญของท่าน ใครมีเหรียญหลวงปู่ในมือแต่หนังสือศักดิ์สิทธิ์ไม่มีภาพลงให้ดูก็อย่าใจเสีย
เกินสามารถที่จะหามาลงได้ครบนี่ครับ

หนังสือพิมพ์รายวันพาดหัวข่าวใหญ่ระหว่างปี 2514 รูปหล่อหลวงปู่แหวน


วัดดอยแม่ปั๋ง วันนี้ไม่คึกคักคลาคล่ำด้วยฝูงชนเหมือนสมัยหลวงปู่แหวนยังมีชีวิตอยู่ แต่ผู้คนยังคงมีสัญจรอยู่บ้าง พวกเขามาที่นี่เพื่อสักการะอัฐิธาตุของหลวงปู่ที่เคารพ และบางคนมาเพื่อรำลึกถึงความหลัง มาทวนภาพความเคลื่อนไหวของหลวงปู่ผู้ล่วงลับไปแล้ว
ที่น้ำตาไหลท่วมอกก็คงมี
ที่เห็นไตรลักษณ์ก็คงมี
ทุกคนที่มาที่นี่รู้แน่ใจว่านี่คือสถานที่เคารพ สถานที่ของครูบาอาจารย์อาศัยอยู่ยามมีชีวิต และเผาสังขารของตนเองยามชีวิตหมดไป
เคยเป็นบ้านอรหันต์และเป็นประตูนิพพานอีกบานหนึ่ง

 วัดดอยแม่ปั๋ง ก่อนปี 2505 คือดอยแห่งความเงียบสงบ ไม่ทันได้บูมอย่างที่เรารู้จัก นั่นเพราะหลวงปู่แหวนไม่ทันได้มาพำนักอยู่ที่นี่ เมื่อพระอาจารย์หนูนิมนต์ท่านขึ้นดอยในปี 2505 ดอยแม่ปั๋งก็เริ่มเรืองรองขึ้นสู่ฟากฟ้าพระพุทธศาสนา
ความเคลื่อนไหวของหลวงปู่แหวนในสมัยแรกของการอยู่ดอยแม่ปั๋ง หาได้มีผู้ใดรู้จักกว้างขวางไม่ แต่พระอริยสงฆ์ท่านหนึ่ง สงบนิ่งอยู่กลางกรุงเทพฯ ไม่เคยออกจากวัดที่พำนัก กลับสามารถล่วงรู้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับดอยแม่ปั๋ง
พระอริยเจ้ารูปนั้นคือพระภิกษุพระยานรรัตน์ราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส
ท่านกล่าวว่า ขณะนี้ได้มีพระอริยเจ้าเกิดขึ้นทางภาคเหนืออีกองค์หนึ่ง

หนังสือพิมพ์รายวันพาดหัวข่าวใหญ่ระหว่างปี 2514
“หลวงปู่แหวนลอยอยู่บนก้อนเมฆ ขวางทางเครื่องบิน เหนือดอยแม่ปั๋ง”
นั่นหนังสือพิมพ์ฉบับไทย
หนังสือพิมพ์ฉบับฝรั่งก็พาดหัวบ้าง
“Down from the clouds, Famous monk is not as lofty legend persists”
และพาดโปรยคำพูดของหลวงปู่แหวนว่า
“Do you think I’m a bird?”

เนื้อข่าวมีใจความว่าขณะที่นักบินนำเครื่องบินขึ้นฝึกบินและเครื่องบินได้ บินผ่านฟ้าเหนือดอยแม่ปั๋ง นักบินก็ตาเหลือก มีพระภิกษุรูปหนึ่งกำลังนั่งสมาธิอยู่บนก้อนเมฆ ขวางหน้าเครี่องบิน
ข่าวไม่ได้บอกว่านักบินถึงกับต้องหักคันบังคับเครื่องบินเลี้ยวหลบพัลวันหรือไม่
แต่ก็มีที่ใส่ไข่ไว้เสร็จแล้วว่านักบินทำอย่างนั้นเป็นที่อุตลุด
เมื่อนำเครื่องบินลงจอดที่เคยจอดเรียบร้อยแล้ว นักบินผู้ประสบเหตุมหัศจรรย์ก็บึ่งมายังสถานที่เกิดเหตุทันที
ไม่เคยรู้จักหรือเคยเห็นหลวงปู่แหวนมาก่อน ก็ได้รู้จักได้เห็นกับตาตนเองว่าเป็นพระองค์เดียวที่นั่งบนก้อนเมฆขวางหน้า เครื่องบินของเขา
ข่าวนี้แพร่สะพัดเร็วกว่าไฟแก๊สที่ถนนเพชรบุรี
คนจำนวนมากมายเหลือคณนา จากทุกสารทิศเดินทางมุ่งหน้าสู่ที่หมายเดียวกันคือดอยแม่ปั๋ง
แม้หลวงปู่จะตอบข้อสงสัยแก่ทุกคนว่า
“ฮาบ่ใจ้ปี๋ จะเหาะได้ไง”
และ
“คิดว่าฮาเป็นนกเรอะ”
คนทั้งหลายก็ไม่เชื่อคำท่าน ทุกคนเชื่อคำของนักบินคนนั้น!

รูปหล่อหลวงปู่แหวน

รูปหล่อหลวงปู่แหวน

รูปหล่อหลวงปู่แหวน รุ่นแรก


 รูปหล่อหลวงปู่แหวน รุ่นแรก

ผู้ศรัทธา ทำให้มีการแสวงหา เหรียญหน้าวัวรุ่น 1 ปี 2516 บรรดาลููกศิษย์ลูกหา อยากได้รูปหล่อจำลอง ขนาดเล็ก องค์ หลวงปู่ไว้บูชาติดตัว จึงได้ศึกษาพระอาจาร์ยหนู ท่านก็เห็นดีด้วยจึงได้ขออนุญาติ แก่ หลวงปู่แหวน ท่านพระอาจารย์หนู จึงได้ให้ คุณกมลฤทธิ์ ฤทธิ์สิงห์ ศิษย์ใกล้ชิดหลวงปู่แหวนเป็นผู้ติดต่อช่าง ครั้งแรกติดต่อช่าง เกษม มงคลเจริญ ตั้งแต่กลางปี 2515 แต่ติดงานไม่ว่าง จึงได้ติดต่อช่าง อาจาร์ยวสันต์ สารากรบริรักษ์ เป็นผู้ปั้น และหล่อแบบโบราณ ใช้เนื้อทองเหลืองใบพัดเรือมาเท ได้พระ323 องค์ แกะเนื้อเงิน 10 องค์ เสร็จจึงนำกลับไปที่วัด และได้ติดต่อช่างเกษม อีกครั้งเมื่อ กุมภา 2516 ทำเสร็จเดือน พฤษภาคม เป็นรูปหล่อนั่งสมาธิ ฐานตัน รอยตะไบ จำนวน 43 องค์ มีทั้งฐาน อุ และไม่ตอก พระลองพิมพ์ชุดแรกนำไปที่วัด เพื่อให้คณะกรรมการดู และเก็บไว้ทั้งหมด มีหลายองค์ที่พระมหาเพ็ง วัดเจดีย์หลวงขอไป ไม่ได้ตอกโค๊ตคุณกมลฤทธิ์ ได้สั่งทำแบบอุดกริ่งเพิ่ม ช่างเกษมได้แต่งพิมพ์ทำให้มีขนาดเล็กลง ได้รูปหล่อฐานอุดกริ่ง 1000 องค์ ฐานตัน 245 องค์ ที่ไม่อุดกริ่งเพราะทำไม่ทัน

จำนวนการสร้าง รูปหล่อหลวงปู่แหวน 2516
1. รูปหล่อหลวงปู่แหวนรุ่นพับเพียบ เทหล่อโบราณ เทหล่อโบราณ เนื้อเงิน กระไหล่ทอง ฐานอุดกริ่ง 1 องค์ รูปหล่อหลวงปู่แหวน เนื้อเงินฐานอุดกริ่ง 4 องค์ รูปหล่อหลวงปู่แหวน เนื้อเงินฐานตันรอยตะไบ 5 องค์ รูปหล่อหลวงปู่แหวน เนื้อทองเหลือง 323 องค์
2. รูปหล่อหลวงปู่แหวน นั่งสมาธิลองพิมพ์ ฐานตัน รอยตะไบ ตอกโค๊ตอุเนื้อทองคำ 3 องค์ เนื้อกะไหล่ทอง 12 องค์ เนื้อเงิน 13 องค์ นวะ 15 องค์ ขนาดจะใหญ่กว่ารุ่นธรรมดา
3.รูปหล่อนั่งสมาธิ ฐานตัน รอยตะไบ และฐานกลึงเนื้อเงิน 55 องค์ เงินกะไหล่ทอง 22 องค์ นวะ 245 องค์
4.รูปหล่อหลวงปู่แหวน นั่งสมาธิฐานอุดกริ่ง ด้วยฝาทองแดง อักษรขอม  สุ นวะ 1000องค์
รูปหล่อนั่งพับเพียบ สร้างรวม 333 องค์ เสร์จเมื่อ ตั้นปี 2516 พระส่วนใหญ่ตอกโค๊ต อุ โดย คุณกมลฤทธิ์ ฤทธิ์สิงห์ มีบางองค์ไม่ได้ต๊อกเพราะขอรับไปก่อน โดยตัวโค๊ตยังไม่เอาขึ้นไป

เรื่องที่น่าอัศจรรย์ หลวงปู่แหวน




                       มีเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งก็คือ  เมื่อครั้งที่เผาศพหลวงปู่นั้น  อัฐิของท่านได้แปรสภาพเป็น

พระธาตุ  มีความสดใสแวววาวดั่งแก้วเจียระไน  และบรรดาสานุศิษย์ที่ได้ครอบครองพระธาตุของหลวงปู่นั้น  ก็ได้รับสิริมงคล  ทำมาค้าคล่อง   นอกจากนี้พระธาตุของหลวงปู่ ยังได้ดลบันดาลให้เกิดปาฏิหาริย์ ช่วยเหลือผู้ที่ครอบครองหลายครั้งหลายหนด้วยกัน

                คุณเกรียงเดช  พูลเฉลิม  ก็เป็นอีกผู้หนึ่งซึ่งสนใจในการปฏิบัติสมาธิมาก  ท่านปฏิบัติจนได้ทิพยจักษุญาณ  ทิพโสตญาณ และ มโนมยิทธิ  สามารถส่งกระแสจิตสัมผัสกับเหล่า เทพ พรหม หรือ แม้แต่วิญญาณต่าง ๆ ได้ ท่านมีความสนใจในเรื่องของพระธาตุของหลวงปู่แหวนมาก  ท่านจึงได้พยายามเสาะแสวงหามาเพื่อนำมาสักการะบูชา  เพื่อความเป็นสิริมงคลสืบไป  และท่านก็ได้มาอย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก  คุณเกรียงเดชได้เปิดเผยถึงการได้มาของพระธาตุหลวงปู่แหวน ดังนี้

                ผมได้อ่านประกาศจัดรายการนำไปงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่แหวน  ที่วัดดอยแม่ปั๋ง  แล้วสนใจจะโทรศัพท์ไปจองตั๋ว  ก็พอดีหัวหน้าหน่วยงานที่ผมทำอยู่   มีคำสั่งให้ผมออกไปปฏิบัติงานที่จังหวัดนครสวรรค์เป็นเวลา  ๒๕  วัน  ซึ่งอยู่ในระหว่างงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่พอดี  จึงทำให้หมดโอกาส

                พอถึงวันงานพระราชทานเพลิงศพ  ผมก็ได้ดูการถ่ายทอดทีวีที่นครสวรรค์  ยังได้เห็นทั้งพระ และประชาชนเป็นอันมากมากันเนืองแน่นไปหมด  ทำให้ผมยิ่งเคารพ และศรัทธาในองค์หลวงปู่เป็นยิ่งนัก  ดูไปก็คิดไปว่า  ถ้าเราได้ไปในงานพระราชทานเพลิงของหลวงปู่ในวันนี้  เมื่อเสร็จงาน หรือ ทางคณะกรรมวัดได้เก็บอัฐิของหลวงปู่เสร็จแล้ว  หลวงปู่ท่านก็คงจะเหลืออัฐิไว้ให้เราบ้าง (โดยการพลางตา)

                คือ ผมคิดว่า ถ้าผมได้ไปในงาพระราชทานเพลิงนี้  คงจะได้อัฐิธาตุของหลวงปู่มาสักการะบูชาบ้างแน่นอน  พองานที่นครสวรรค์แล้วเสร็จ  ผมก็กลับกรุงเทพ ฯ  เช้าวันรุ่งขึ้นก็ไปซื้อหนังสือธรรมะเล่มหนึ่ง มาอ่าน  และพบประกาศของคณะธรรมยาตรานิมิต  จัดนำเที่ยวไปนมัสการพระธาตุและหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่แหวน  ผมเลยรีบจองตั๋วทันที

                รถออกจากหน้ากรมไปรษณีย์กลางบางรัก  เมื่อวันที่  ๒๗  กุมภาพันธ์  ๒๕๓๐  เวลา ๑๘.๐๐ น.  ถึงวัดดอยแม่ปั๋งประมาณ  ๐๗.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น  พอรถหยุดที่หน้าวัดดอยแม่ปั๋ง  ผมรีบลงจากรถทันที  โฆษกประจำรถประกาศว่า  ให้เวลา ๑ ชั่วโมง  พร้อมทั้งรับประทานอาหารเช้า เสร็จแล้วจะได้ไปเที่ยวที่อื่นต่อไป

                ผมเดินขึ้นดอยไป ครุ่นคิดไปว่า  สงสัยเวลา ๑ ชั่วโมง จะไม่ทัน  เพราะระยะทางจากเชิงดอย มีป้ายบอกระยะทาง ๕๐๐ เมตร จุดประสงค์ของผมก็คือ จะไปให้ถึงบริเวณเมรุ  เลยต้องเปลี่ยนความตั้งใจใหม่หมด  ตกลงไปแค่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง และที่บรรจุอัฐิของหลวงปู่

                พอมาถึงหน้าประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์  มองดูที่ป้ายบอกระยะทาง “เมรุ ๕๐๐ เมตร” และผมเห็นว่า ไม่มีใครไปเลย   ผมเลยตัดสินใจไม่ไป   ผมถอดรองเท้าที่หน้าประตู   แล้วเข้าไปนั่งยกมือไหว้เจดีย์บรรจุอัฐิ   เสร็จแล้วมาไหว้หุ่นขี้ผึ้ง และบอกหลวงปู่ว่า

                “ถ้าผมมีบุญบารมีที่จะได้พระธาตุของหลวงปู่ไปสักการะบูชา   ก็ขอให้ได้ด้วยเถิด   จะด้วยวิธีใดก็ตาม   การมาของผมครั้งนี้ก็เพื่อต้องการพระธาตุไปสักการะบูชา”

                สิ้นคำอธิษฐาน  ผมเห็นหลวงปู่ (หุ่นขี้ผึ้ง) ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่   ท่านบอกว่า  ดีใจที่ผมมาตามที่ได้ให้สัญญากับท่านไว้  ของที่ผมอยากได้นั้น ท่านเตรียมไว้ให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

                ท่านรู้ก็เพราะว่า  ตอนที่ผมนั่งดูทีวี ถ่ายทอดงานพระราชทานเพลิงของหลวงปู่นั้น  ผมได้ส่งกระแสจิตถึงหลวงปู่ว่า “งานพระราชทานเพลิงของหลวงปู่นี้ ผมไม่ได้มาเสียแล้ว แต่ผมอาจจะได้มาหลังงานพระราชทานเพลิงแล้ว ขอให้หลวงปู่ช่วยเก็บรักษาอัฐิธาตุไว้ให้ด้วยก็แล้วกัน” และผมก็เห็นหลวงปู่ท่านรับปาก

                จากสภาพนั่งของหุ่นขี้ผึ้ง  ผมเห็นท่านลุกขึ้นเดินแบบคนแก่  ไปหยิบไม้เท้าประจำตัวของท่าน  เดินมาหยุดตรงที่ผมนั่ง  แล้วบอกให้ผมเดินตามท่านไป  ผมก็ลุกขึ้นเดินตามท่านออกไป

                ท่านก็มาหยุดตรงหน้าประตูทางเข้าพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง  แล้วชี้ให้ผมดูระยะทางจากที่ผมกับท่านยืนอยู่ ไปถึงเมรุ ประมาณ ๕๐๐ เมตร

                ท่านบอกว่า  กว่าผมจะเดินไปถึงเมรุ  แล้วกลับมาถึงที่ผมกำลังยืนอยู่นี้  ก็เสียเวลาหลายสิบนาที  ท่านบอกอีกว่า  ท่านรู้และทราบล่วงหน้าว่า  ถึงอย่างไร ผมก็ต้องมาแน่  เพราะถ้าไปที่บริเวณเมรุตอนนี้  ก็ไม่มีอะไรเหลือแล้ว  คนที่มาในงาน เอาไปหมดแล้ว

                แล้วท่านก็ออกเดินนหน้าผมไป  พร้อมกับชี้ให้ผมดูบริเวณโดยรอบวัด  ซึ่งยังทอดทิ้งให้เห็นสภาพความยิ่งใหญ่ของงานพระราชทานเพลิงศพที่ผ่านมา  ซึ่งมีทั้งเตาไฟของมูลนิธิต่าง ๆ ซากของเพิงพัก และป้ายชื่ออาหาร

                ผมกับหลวงปู่เดินกันมาเรื่อย ๆ  ในระหว่างที่เดินมา ก็คุยกันไป หัวเราะและสนทนากันไป เป็นที่ถูกอัธยาศัยซึ่งกันและกันยิ่งนัก  จนมาถึงบริเวณเชิงเขา  ที่ตรงนี้ถ้าใครเคยไปวัดดอยแม่ปั๋ง  จะเห็นรูปปั้นของหลวงปู่ในท่ายืนถือไม้เท้า  ด้านหลังรูปปั้นของท่าน  จะเป็นศาลาใหญ่ มีพระพุทธรูปหน้าตักกว้างประมาณ ๒ ศอกเศษอยู่องค์หนึ่ง

                ผมได้ไปไหว้รูปปั้นหลวงปู่พร้อมทั้งปิดทอง (ตอนขึ้นมาไม่ได้ไหว้ เพราะตั้งใจจะไปให้ถึงบริเวณเมรุ) เสร็จแล้วหลวงปู่ท่านก็พามาที่พระพุทธรูปองค์นั้น  แล้วท่านก็ชี้นิ้วมือไปที่ใต้ฐานพระพุทธรูป  ผมก็มองตามนิ้วมือของท่านไป  แล้วก็ได้เห็นสิ่งที่หลวงปู่ท่านบอกว่า

                “ท่านเก็บเอาไว้ให้ อยู่ที่ใต้ฐานพระพุทธรูปองค์นี้เอง”

                ผมเห็นหลอดพลาสติกสีขาวใส  โตขนาดนิ้วชี้  ยาวประมาณ ๓ นิ้ว  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ เช็นติเมตร มีฝาปิดเรียบร้อย ผมเลยเอาก้านธูปเขี่ยออกมาดู  ความในของหลอดพลาสติก ทำให้เห็นสิ่งที่อยู่ข้างใน  มีลักษณะคล้ายเถ้าถ่านอะไรอย่างหนึ่ง ผมก็เลยค่อย ๆ แกะฝาที่ปิดออกดู

                พอเปิดออก สิ่งที่เห็นก่อน ก็คือ กระดาษเงิน กระดาษทอง ตัดเป็นรูปวงกลมเล็ก ๆ ภายในหลอดบรรจุด้วยเถ้าถ่านที่เผาไหม้เป็นผงแล้ว และเศษไม้ไหม้ไฟ จนเป็นถ่านก้อนเล็ก ๆ อีกหลายชิ้น  เมื่อคิดตามรูปการณ์แล้ว  แน่นอน คงเป็นส่วนหนึ่งที่ใช้ประดับเมรุ  ผมรู้สึกปลื้มปีติจนบอกไม่ถูก  อยากจะกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ  ที่ได้มาที่วัดดอยแม่ปั๋งครั้งนี้  ไม่เสียเที่ยว และเป็นไปดังความคาดหมาย  ซึ่งเรื่องนี้ผมได้เห็น คือ รู้เรื่องราวว่า จะต้องได้พระธาตุแน่นอน

                ผมเลยพนมมือขึ้นสาธุ  บอกขอบคุณหลวงปู่ และเทพที่สถิตอยู่ในพระพุทธรูปองค์นั้น (ที่ผมพบหลอดนี้)  ที่อุตส่าห์รักษาของนี้ไว้ให้เป็นเวลา ๑ เดือนเศษ  แล้วผมก็ทำพิธีเบิกพระเนตร พร้อมทั้งปิดทองพระพุทธรูปองค์นั้นด้วย

                เพื่อความแน่ใจผมเลยนำหลอดที่พบนี้ไปให้พวกร้านขายรูปภาพหลวงปู่แหวน  ซึ่งมีอยู่หลายร้านบริเวณทางขึ้นดอย  ผมถามเขาว่า ในบริเวณเมรุของหลวงปู่แหวนนั้น  มีกระดาษเงิน กระดาษทอง ตัดเป็นรูปวงกลม เล็ก ๆ ประดับอยู่หรือไม่  พอเจ้าของร้านบอกว่ามี ผมก็หยิบหลอดที่ผมได้มานั้นให้ดู เปิดฝาจุกให้เขาดู  ตอนนี้รู้สึกว่า มีกลิ่นหอมคล้ายดอกมะลิสด  กลิ่นแรงมาก คล้ายกับมีดอกมะลิมาวางไว้ใกล้ ๆ ผมเป็นเข่ง ๆ เจ้าของร้านเขาก็ได้กลิ่น

                เจ้าของร้านได้ยกมือขึ้นพนมไหว้ระลึกถึงหลวงปู่แหวน  แล้วผมก็ได้เล่าให้เขาฟังว่า ได้จากที่ตรงไหน  เสร็จแล้วผมก็เดินมาที่ร้านอาหาร  ขณะกำลังสั่งอาหาร  ก็เห็นผู้หญิงเจ้าของร้านรูปภาพ คนที่ผมเข้าไปถามเรื่องกระดาษเงิน กระดาษทอง เดินขึ้นไปที่พระพุทธรูปองค์ที่ผมพบของนี้  ผมเห็นเขายืนก้ม ๆ เงย ๆ เหมือนกำลังมองหาอะไรอยู่นาน  เมื่อไม่พบอะไร เขาก็เดินลงมา

                เมื่อรับประทานอาหารกันเสร็จแล้ว ก็อำลาดอยแม่ปั๋ง

 หลังจากนั้น  คณะทั้งหมดได้ไปเที่ยวดอยตุง  ดอยตุงนี้ รถบัสขึ้นไม่ได้  เพราะเป็นยอดเขาสูงคดเคี้ยวมาก  ต้องเปลี่ยนมาขึ้นรถสองแถว  คันที่ผมไป  ผมนั่งอยู่ตอนหน้าพร้อมพระอีกรูปหนึ่ง  ขากลับลงมาจากเขา ผมก็ยังนั่งข้างหน้ากับพระรูปนั้นอยู่  พอมาถึงระหว่างทาง พระท่านได้หยิบเหรียญหลวงปู่แหวนสีทองออกมาจากย่าม  แล้วบอกผมให้ช่วยอ่านรายละเอียดบนเหรียญ เช่น พ.ศ.อะไร เป็นของวัดไหนสร้าง

ผมก็ไม่ทันได้อ่าน  แต่ดูเหรียญของท่านแล้ว เหมือนบูชามาจากบนดอยแม่ปั๋ง  ผมเลยหยิบหลอดที่บรรจุอัฐิธาตุที่ผมได้มานั้นให้ท่านดู  แล้วเล่าให้ท่านฟังโดยตลอด พระท่านก็ขอดู

ตอนนั้นไม่ทราบเป็นเพราะเหตุใด  มองดูในหลอดเห็นเหมือนผงถ่านนั้น  กำลังกลายเป็นพระธาตุ ส่งประกายระยิบระยับไปหมด  พระท่านก็บอกว่า  เถ้าถ่านนี้กำลังกลายเป็นพระธาตุ

เมื่อกลับจากทัวร์บุญวันนั้นและถึงบ้านแล้ว  ผมได้นำสิ่งอันควรสักการะ  ซึ่งได้รับมอบมาจากหลวงปู่แหวนอย่างปาฏิหาริย์  ดังที่กล่าวไว้ในเบื้องต้น ขึ้นสู่หิ้งบูชา และสักการะทุกค่ำเช้า

รูปหล่อหลวงปู่แหวน ประวัติหลวงปู่แหวน

ประสบการณ์ ขนหัวลุก ของหลวงปู่แหวน กับหลวงปู่ตื้อ



ในเช้าวันหนึ่ง หลวงปู่แหวนกับหลวงปู่ตื้อ ได้อาศัยบิณฑบาตที่หมู่บ้านชาวป่า มี 4-5 หลังคาเรือน ชาวบ้านพากันมาใส่บาตรด้วยความดีใจ เพราะนานๆ จึงจะมีพระธุดงค์มาโปรดสักที

ชาวบ้านถามว่า พระคุณเจ้าทั้งสองจะไปไหน หลวงปู่บอกว่าจะมุ่งไปทางเทือกเขาที่มองเห็น แล้วจะลงไปทางสุวรรณเขต (อยู่ตรงข้ามกับมุกดาหาร) ชาวบ้านแสดงอาการตกใจ พร้อมทั้งทัดทานว่าอย่าไปทางโน้นเลย เพราะมียักษ์ปีศาจดุร้ายสิงอยู่ คอยทำร้ายคนและสัตว์ที่ผ่านไปทางนั้น
หลวงปู่ทั้งสอง กล่าวขอบใจในความหวังดี และบอกว่าท่านทั้งสองได้มอบกายถวายชีวิตให้พระศาสนาแล้ว ขออย่าได้ห่วงตัวท่านเลย แล้วท่านก็ออกเดินทางไปในทิศทางดังกล่าว
หลวงปู่ออกเดินทางโดยข้ามลำน้ำสองแห่ง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ป่าแถบนั้นเงียบกริบ ไม่ได้ยินเสียงสัตว์ต่างๆ เลย แม้แต่นกก็ไม่มี ดูผิดประหลาดมาก

พอใกล้ค่ำหลวงปู่ทั้งสอง ก็มาถึงยอดเขาสูงที่มีลักษณะประหลาดมาก คือยอดเป็นสีดำคล้ายถูกไฟเผา รูปลักษณะดูตะปุ่มตะป่ำคล้ายหัวคนบ้าง หัวตะโหนกช้างบ้าง แปลกไปจากเขาลูกอื่นๆ

หลวงปู่ทั้งสอง เลือกปักกลดค้างคืนข้างลำธารที่มีน้ำใสไหลผ่านอยู่ที่เชิงเขาลูกนั้น ปักกลดห่างกันประมาณ 10 เมตร เมื่อสรงน้ำพอสดชื่นแล้วต่างองค์ก็นั่งสงบภายในกลดของตน ทั้งสององค์ตระหนักในความประหลาดของสถานที่นั้น ไม่ได้พูดอะไรกันเพียงแค่นั่งสงบอยู่ภายในกลด

ประมาณ 5 ทุ่ม หลวงปู่แหวน ก็ออกจากกลดเตรียมจะเดินจงกรม  หลวงปู่ตื้อ ออกมาตามและพูดว่า "ผมรู้สึกว่าที่นี่วิเวกผิดสังเกตนะ"
หลวงปู่แหวน ตอบ "ผมก็รู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน"
พูดกันแค่นี้แล้วต่างองค์ต่างก็เดินจงกรมในทางของตน

ต่อจากนั้นไม่นานก็มีเสียงกรีดแหลมเยือกเย็นดังลงมาจากยอดเขารูปประหลาดนั้น เสียงนั้นแหลมลึกบีบเค้นประสาทจนรู้สึกเสียวลงไปถึงรากฟันทีเดียว

หลวงปู่ตื้อ ถามพอได้ยินว่า "ท่านแหวนได้ยินแล้วใช่ไหม"
หลวงปู่แหวน ตอบด้วยเสียงเรียบ ๆ ว่า "ผมกำลังฟังอยู่"
เสียงกรีดร้องนั้นใกล้เข้ามาทุกที ฟังแล้วน่าขนพองสยองเกล้า ทั้งสององค์คงเดินจงกรมอยู่เงียบๆ ตามปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ป่านั้นเงียบสงัดจริงๆ เสียงนกเสียงแมลงก็ไม่มี ครั้นแล้วเกิดพายุปั่นป่วนมาอย่างกระทันหัน ชนิดไม่มีเค้ามาก่อนเลย ต้นไม้โยกไหวรุนแรงราวกับจะถอนรากออกมา อากาศพลันหนาวเย็นวิปริตขึ้นมาทันที  พลันปรากฏร่างประหลาดขึ้นร่างหนึ่ง ตัวดำมะเมื่อม สูงราว 7 ศอก มีขนยาวรุงรังคล้ายลิงยักษ์ แต่หน้าคล้ายวัวควาย ตาโปน มือสองข้างยาวลากดิน มันก้าวเข้ามาอยู่ห่างจากหลวงปู่ทั้งสองประมาณ 10 เมตรเห็นจะได้

สัตว์ประหลาดนั้นส่งเสียงร้องโหยหวนขึ้น พลันพายุนั้นก็สงบลง แสดงว่ามันมีอำนาจเหนือธรรมชาติ  สัตว์นั้นส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงร้ายกาจเหมือนกลิ่นศพที ่กำลังขึ้นอืด มันกระทืบเท้าสนั่นจนแผ่นดินสะเทือน

หลวงปู่แหวนเล่าในภายหลังว่า ท่านไม่รู้สึกกลัว แต่ขนลุกซู่ซ่าไปหมด เพราะไม่เคยเห็นสัตว์ประหลาดอย่างนั้นมาก่อน ยังไม่รู้ว่าเป็นปีศาจหรือสัตว์อะไรแน่ ท่านได้กำหนดสติไม่ให้ใจคอวอกแวก ทอดสายตาไปยังสัตว์ประหลาดนั้น กำหนดจิตแผ่เมตตาไปยังร่างนั้น  สัตว์ร่างยักษ์นั้นหยุดร้อง หยุดส่งกลิ่นเหม็น แสดงว่ารับกระแสเมตตาได้ มันค่อยๆ ทรุดร่างลงนั่งยองๆ เอามือยันพื้นไว้ ทำท่าแสดงความนอบน้อมต่อท่าน

หลวงปู่ตื้อ พูดพอได้ยินว่า "ท่านแหวนทำดีมาก" พร้อมทั้งเดินมาสมทบ แล้วพูดว่า "เขาแบกหามบาปหาบทุกข์อันมหันต์ เขามาหาเรา เพื่อให้ช่วยปลดทุกข์ให้เขานะ เขาสร้างกรรมไว้มาก เมื่อตายจากมนุษย์แล้วต้องมาเป็นปีศาจอสุรกาย ทนทุกข์ทรมานอยู่ที่นี่"
หลวงปู่แหวน ได้กำหนดจิตถามดูก็ได้ความว่า สมัยเป็นมนุษย์เขามีการกระทำที่มากล้นด้วยตัณหา และความโลภ คือละเมิดศีลข้อ 2 และข้อ 3 อยู่เสมอ จึงต้องมาเป็นปีศาจอสุรกาย รับทุกข์อยู่ที่นั่นมากว่าร้อยปีแล้ว

ปีศาจอสุรกายนั้นดูท่าทางอ่อนลงมาก มันร้องไห้คร่ำครวญน่าสงสาร ขอความเมตตาจากพระคุณเจ้าทั้งสองให้เขาได้พ้นทุกข์ทรมานนั้นด้วยเถิด


หลวงปู่แหวน ได้พิจารณาเห็นว่า เขาสร้างกรรมซับซ้อนเหลือเกินใครจะช่วยเขาได้ พลันหลวงปู่ตื้อตอบมาในสมาธิว่า "กรรมเป็นเรื่องสลับซับซ้อนลึกซึ้งอยู่ก็จริง บางทีพระผู้มีศีลบริสุทธิ์และมีบารมีเช่นท่านแหวน ก็อาจจะช่วยให้เขาพ้นทุกข์ได้ ลองอ่านพระคาถา หรือเทศนาธรรมให้เขาฟังดูสิ"
หลวงปู่แหวนได้กำหนดจิตว่าพระคาถา แล้วเทศนาให้เขาสำนึกบาปบุญคุณโทษ เขาค่อยๆ คลายความกังวลลง ก้มลงกราบด้วยความซาบซึ้ง

"พระคุณเจ้า ข้าพเจ้าได้กำหนดจิตพิจารณาตามกระแสธรรมของท่านแล้ว เกิดแสงสว่างกับข้าพเจ้าอย่างมหัศจรรย์ และข้าพเจ้าได้เห็นสภาวธรรม คือ ชาติ ชรา มรณะ อันเป็นทุกข์เป็นธรรมดาของสรรพสัตว์ทั้งหลายแล้วพระคุณเจ้า"
สีหน้าเขาดูสดชื่นขึ้น ก้มลงกราบหลวงปู่ทั้งสององค์ แล้วร่างนั้นก็หายไป

ประวัติหลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง


ประวัติหลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง ท่านออกบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุได้ 13 ปี โดยมีจิตมุ่งมั่นจะอยู่ในสมณเพศ ตามแนวความคิดของมารดาเมื่อครั้งยังมีชีวิต เมื่อออกบรรพชาเป็นสามเณรนั้นได้บวชในฝ่ายมหานิกาย โดยมีพระอาจารย์คำมา เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น "แหวน" สามเณรแหวนสนใจปฏิบัติธรรมและเรียนรู้ในตำราต่างๆ เป็นอย่างยิ่ง แม้ด้วยวัยเพียง 13 ปี ท่านก็สามารถอ่านตำราในใบลานได้ทั้งภาษาขอม และภาษาล้านนาจนแตกฉาน ในด้านความประพฤติตนของสามเณรแหวนนี้เป็นที่น่าเลื่อมใสและก่อศรัทธาแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านขยันเจริญสมาธิ ฉันอาหารเพียงมื้อเดียว และไม่เสพเนื้อสัตว์ บุคลิกลักษณะสุขุม พูดน้อย ดูเคร่งขรึมสมกับการครองเพศสมณะ อาจารย์อ้วน ผู้มีศักดิ์เป็นอาของสามเณรแหวน ได้พิจารณาส่งเสริมความตั้งใจศึกษาของหลานเป็นอย่างดี ได้นำไปฝากเรียนธรรมและวิชาการอื่นๆ ที่สำนักสงฆ์วัดนาสัก อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย และได้ไปเรียนต่อ ณ สำนักสงฆ์วัดสร้างถ่อ อำเภอหัวสะพาน จังหวัดอุบลราชธานี ณ วัดนี้ ได้มีพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ทางภาษาบาลี ภาษาไทย ทำให้ได้เข้าใจและรู้แจ้งในธรรมะขึ้นอีก ความใฝ่รู้ของท่านทำให้รู้และเริ่มเชี่ยวชาญในทางไสยศาสตร์ประกอบไปด้วย

เมื่ออายุครบบวช ได้อุปสมบทที่วัดสร้างถ่อนอก (ห่างจากวัดสร้างถ่อเล็กน้อย) บวชในฝ่ายมหานิกายเช่นเดิม ได้ศึกษาธรรมวินัย ธรรมปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นผู้รอบรู้ทั้งปริยัติธรรมตลอดจนถึงวิชาอาคมอย่างกว้างขวาง จากความที่ท่านเป็นผู้ชอบแสวงและใฝ่หาความรู้นั้นเอง จึงเกิดความคิดที่จะออกเสาะหาอาจารย์ผู้ที่จะประสิทธิ์ความรู้ให้แก่ท่านต่อไปอีก จึงได้ออกเดินทางธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ ขณะที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ เริ่มออกธุดงค์เพื่อแสวงหาโมขธรรมนั้นอายุได้ประมาณ 30 ปี บ่อยครั้งจากการธุดงค์ได้พบสหายธรรมจากที่ต่างๆ บ้างก็เป็นพระสงฆ์ในแนวมหานิกายด้วยกัน บ้างก็เป็นสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย แต่ก็มีความผูกพันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตลอดกระทั่งมีการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อคิดต่างๆ แก่กันเสมอ ผู้ที่หลวงปู่แหวน สุจิณโณ สนิทสนมด้วยเป็นพิเศษ และได้คบหากันต่อมาก็คือ หลวงปู่ตื้อ อาจลธรรมโม ซึ่งเป็นผู้ชักนำให้ไปพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งกำลังเป็นผู้ที่ถูกกล่าวถึงว่าปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ และกำลังออกสั่งสอนธรรมปฏิบัติอยู่ทางภาคอีสานขณะนั้น หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ได้พบและฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่น บังเกิดความซาบซึ้ง และทราบว่าเป็นทางแห่งการแสวงหาธรรมตามที่ประสงค์

หลังจากหลวงปู่แหวนได้พบพระอาจารย์มั่น และได้เดินทางธุดงค์ไปกับหลวงปู่ตื้อ โดยเดินทางไปจากภาคอีสานไปสู่ประเทศลาว เขมร เวียดนาม พม่า จนกระทั่งทะลุผ่านกลับสู่ประเทศไทย ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วกลับมาสู่อีสานแล้ว ต่อมาอีกไม่นาน (ประมาณอายุ 33 ปี) หลวงปู่แหวนได้ติดตามท่านเจ้าคุณพระอุมาลีคุณปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ไปจำพรรษา
ณ วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ครั้งนี้หลวงปู่แหวนได้พบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อีกครั้ง พร้อมทั้งได้ขอรับเป็นพระสงฆ์ในฝ่ายธรรมยุติกนิกาย โดยมีท่านเจ้าคุณพระอุมาลีคุณปมาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ นับแต่นั้นหลวงปู่แหวนก็ได้ออกธุดงคกรรมฐานหาความวิเวกตามป่าเขาลำเนาไพรแถบภาคเหนือตลอดมา จวบจนได้พบวัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ และได้ทำการพัฒนาจนเจริญรุ่งเรือง จนเป็นที่รู้จักแก่คนทั่วไปถึงทุกวันนี้ ปีพ.ศ.2489 หลวงปู่แหวนจำพรรษาที่วัดป่าบ้านปง อ.แม่แตง ในพรรษานั้นท่านอาพาธเป็นแผลที่ขาอักเสบต้องผ่าตัด โดยมีพระอาจารย์หนู สุจิตโต ซึ่งเดินทางมาจากดอยแม่ปั๋งพยาบาลอยู่ใกล้ๆ เมื่อครบ 7 วัน ต้องกลับไปดอยแม่ปั๋ง เพราะอยู่ระหว่างพรรษา จนกระทั่งเดือนเมษายนในปีต่อมา อาการอาพาธจึงดีขึ้น แต่ก็ยังไม่หายสนิทยังเดินไปไหนไกลๆไม่ได้

นับแต่นั้นมาอาจารย์หนูได้พยาบาลอยู่ใกล้ๆ เพื่อดูแลหลวงปู่แหวน ต่อมาท่านอาจารย์หนูได้ดำริว่า ปัจจุบันหลวงปู่มีอายุมากแล้ว ไม่มีพระภิกษุสามเณรอยู่ด้วยเพื่อเป็นอุปัฏฐาก ถ้านิมนต์มาอยู่ที่ดอยแม่ปั๋งก็จะได้ถวายการดูแลได้โดยง่ายไม่ต้องไปๆ มาๆ อยู่อย่างนี้ แต่ก็ต้องเป็นเพียงความคิดของพระอาจารย์หนูเท่านั้น เพราะในเวลาดังกล่าว ดอยแม่ปั๋งยังไม่มีอะไรพร้อมแม้แต่กุฏิก็ยังไม่มี ปีพ.ศ.2505 ขณะที่หลวงปู่แหวนมีอายุ 75 ปี คืนวันหนึ่งท่านอาจารย์หนูนั่งภาวนาอยู่เกิดเป็นเสียงหลวงปู่แหวนดังขึ้นมาที่หูว่า จะมาอยู่ด้วยคนนะ หลังจากวันที่ได้ยินเสียงหลวงปู่แหวนอีกสามวัน พระอาจารย์หนูได้ถูกนิมนต์ไปที่วัดบ้านปงสถานที่ที่หลวงปู่อยู่ และถือโอกาสนิมนต์หลวงปู่แหวนมาที่วัดดอยแม่ปั๋งด้วย เมื่อหลวงปู่แหวนได้มาอยู่ที่วัดดอยแม่ปั๋งแล้ว ครั้งแรกท่านพักอยู่ที่กุฏิหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง การมาอยู่ที่วัดดอยแม่ปั๋งนี้ ท่านได้มีข้อตกลงกับพระอาจารย์หนูว่า หน้าที่ต่างๆ และกิจทุกอย่างที่มีขึ้นในวัด ให้ตกเป็นภาระของพระอาจารย์หนูแต่เพียงผู้เดียว ส่วนท่านจะอยู่ในฐานะพระผู้เฒ่าผู้ปฏิบัติธรรมจะไม่มีภาระใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนั้น หลวงปู่แหวน จะไม่รับนิมนต์โดยเด็ดขาด แม้ที่สุดถึงจะเกิดอาพาธหนักเพียงใดก็ตาม ท่านไม่ยอมนอนรักษาที่โรงพยาบาล ถึงธาตุขันธ์จะทรงอยู่ต่อไปไม่ได้ก็จะให้สิ้นไปในป่าอันเป็นที่อยู่ ตามอริยโคตรอริยวงศ์ ซึ่งบูรพาจารย์ท่านเคยปฏิบัติมาแล้วในกาลก่อน

นับตั้งแต่หลวงปู่แหวนได้ขึ้นไปทางเหนือ ท่านไม่เคยไปจำพรรษาที่ภาคอื่นเลย เพราะอากาศทางภาคเหนือสัปปายะ สำหรับท่าน หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋งได้มรณภาพลงที่วัดดอยแม่ปั๋งแห่งนี้ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2528 สิริอายุ 98 ปี มีผู้กล่าวถึงหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ว่าท่านสำเร็จเป็นพระอรหันต์ เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรมและมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ นานา หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ได้หยุดชีวิตธุดงควัตรของท่านเพื่อพำนักอย่างจริงจังในวัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ มีผู้นิยมเลื่อมใสและศรัทธาในวัตถุมงคลของท่านมาก พระเครื่องหลวงปู่แหวน ต่างก็พยายามหามาไว้เป็นสิริมงคลแก่ตัว เพราะต่างร่ำลือในความขลังจากการปลุกเสกของหลวงปู่แหวน สุจิณโณ